การสอนแบบร่วมมือ

         ความหมายและแนวคิดของการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative and Collaborative Learning)
              ความหมาย     Cooperative and Collaborative Learning หรือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เพราะมีลักษณะเป็นกระบวนการเรียนรู้เป็นแบบร่วมมือ ข้อแตกต่างระหว่าง Cooperative Learning กับ Collaborative Learning อยู่ที่ระดับความร่วมมือที่แตกต่างกัน Sunyoung, J. (2003) ได้สรุปว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่าง Cooperative Learning กับ Collaborative Learning คือ เรื่องโครงสร้างของงานอัน ได้แก่ Pre – Structure , Task – Structure และ Content Structure โดย Cooperative Learning จะมีการกำหนดโครงสร้างล่วงหน้ามากกว่า    
หลักการของการเรียนแบบร่วมมือ
1.   การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในทางบวก  สมาชิกในกลุ่มทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน  มีการทำงานร่วมกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  สมาชิกในกลุ่มมีความรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จด้วย
2.   การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน  เป็นการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด มีการติดต่อสัมพันธ์กัน  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
3.    ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล  กลุ่มจะต้องช่วยกันเรียนรู้และช่วยกันทำงาน  โดยมีความรับผิดชอบต่องานของตนอย่างเต็มที่เพื่อผลสำเร็จของงานกลุ่ม
4.    การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย  เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ  นักเรียนควรจะได้รับการฝึกทักษะในการสื่อสาร  การเป็นผู้นำ  การไววางใจผู้อื่น  การตัดสินใจ การแก้ปัญหา มีการร่วมมือกันในกลุ่ม
5.    กระบวนการกลุ่ม  เป็นวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกทุคนต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน วางแผน  ปฏิบัติงานร่วมกัน  ดำเนินงานตามแผนที่วางไว้  ตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน                   


ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือ
1.       สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก  เพราะทุก ๆ คนร่วมมือในการทำงานกลุ่มทุก ๆ คน มีส่วนร่วมเท่าเทียมกันทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียน
2.       ส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสคิด  พูด  แสดงออก  แสดงความคิดเห็น  ลงมือกระทำอย่างเท่าเทียมกัน
3.       ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4.       ทำให้รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  การร่วมคิด นำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน  เป็นการส่งเสริมให้ช่วยกันคิดหาข้อมูลให้มาคิดวิเคราะห์และเกิดการตัดสินใจ
5.       ส่งเสริมทักษะทางสังคม  ทำให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  เข้าใจกันและกัน
6.       ส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น                   
เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ                  
1.  เทคนิคปริศนาความคิด  (Jigsaw)  เป็นการสอนที่อาศัยแนวคิดการต่อภาพ  วิธีการหลักของการสอนแบบนี้คือ  แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มมีสมาชิก  3-4 คน  โดยสมาชิกในกลุ่มมีความสามารถคละกัน  ผู้เรียนแต่ละคนจะได้ศึกษาเพียงส่วนหนึ่งหรือหัวข้อย่อยของเนื้อหาทั้งหมด  โดยการศึกษาเรื่องนั้น ๆ  จากเอกสารหรือกิจกรรมที่ผู้สอนจัดให้  ในตอนที่ศึกษาหัวข้อย่อยนั้น   ผู้เรียนจะทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อนที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อย่อยเดียวกันและเตรียมพร้อมที่จะกลับไปอธิบายให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มพื้นฐานของตนเอง จบบทเรียนจะมีการทดสอบ  ผลของคะแนนกลุ่มที่พัฒนาขึ้นได้ตามคะแนนมาตรฐานที่กำหนดจะได้รับรางวัล                          
2.  เทคนิคแบ่งปันความสำเร็จ   (Student  Teams-Achievement  Division  :  STAD)   เป็นการเรียนที่แบ่ง ผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4-5 คน  โดยสมาชิกมีความสามารถแตกต่างกัน   ทั้งเพศ  เชื้อชาติ   ผู้สอนกำหนดบทเรียนและงานของกลุ่มไว้แล้ว  ผู้สอนทำการสอน  แล้วให้ผู้เรียนทำงานกลุ่มที่กำหนด     ผู้เรียนในกลุ่มช่วยเหลือกัน  เด็กเก่งช่วยและตรวจงานของเพื่อนให้ถูกต้องก่อนนำส่งผู้สอน  ผู้เรียนต่างคนต่างทำข้อสอบแล้วเอาคะแนนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม    ผู้สอนจัดลำดับของคะแนนกลุ่มปิดประกาศให้ทุกคนทราบ                          
3.  เทคนิคการเรียนร่วมกัน  (Learning  Together  :  LT)  เป็นการสอนที่จัดกลุ่ม          ผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ  ละไม่เกิน  6  คน  ซึ่งสมาชิกมีความสามารถแตกต่างกัน  จัดให้ผู้เรียนนั่ง หันหน้าเข้าหากันเป็นวง  เพื่อให้สามารถสื่อสารพูดคุยกันได้สะดวก  ผู้เรียนแต่ละกลุ่มทำงานตาม ที่ได้รับมอบหมาย  สมาชิกกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  มีความรับผิดชอบในตัวเองต่องานที่ได้รับ  มอบหมาย  ผู้สอนสอนทักษะการทำงานกลุ่ม  และประเมินการทำงานกลุ่มของผู้เรียน                          
4.  เทคนิคช่วยกันคิดช่วยกันเรียน  (Team  Assisted  Individualization  :  TAI)  เป็นวิธีการสอนที่ผสมผสานระหว่างการเรียนแบบร่วมมือ  (Co-operative  Learning)  และการสอนรายบุคคล  (Individualization  Instruction)  เข้าด้วยกัน  โดยให้ผู้เรียนได้ลงมือทำกิจกรรมในการเรียนได้ด้วยตนเองตามความสามารถของตน  และส่งเสริมความร่วมมือภายในกลุ่ม  มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม                           
 5.  เทคนิคการจัดทีมแข่งขัน  (Teams – Games – Tournaments  :  TGT)  เป็นการเรียนแบบร่วมมือกันแข่งขันกิจกรรม  โดยจัดกลุ่มผู้เรียนคละความสามารถ  กลุ่มละ  3-4 คน  แต่ละกลุ่มศึกษาหัวข้อที่เรียน  และปฏิบัติหน้าที่ของตนแล้วเริ่มทำการแข่งขันตอบปัญหา  คะแนนที่สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มทำได้  จะนำมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม  เมื่อเสร็จการแข่งขัน  ผู้สอนให้รางวัลกลุ่มที่ทำคะแนนได้สูงสุด                          
6.  เทคนิคกลุ่มสืบค้น  (Group  Investigation  : GI)  เป็นวิธีการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 2-5 คน  แต่ละกลุ่มทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย  สมาชิกในกลุ่มแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถ  กลุ่มเสนอผลงานหรือรายงานหน้าชั้น  การประเมินผลประเมินทั้ง รายบุคคลและเป็นกลุ่ม  การให้รางวัลให้เป็นกลุ่ม                          
7. เทคนิคร่วมกันอ่านเขียน  (Cooperative  Intergrated  Reading  and  Composition  : CIRC)  เป็นเทคนิคสำหรับสอนการอ่าน  การเขียน  และทักษะทางภาษา  ใช้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย  โดยเน้นที่หลักสูตรและวิธีการสอน  ผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มการอ่านแล้ว   ผู้สอนให้ผู้เรียนจับคู่กัน  แล้วแต่ละคู่จะถูกกำหนดให้เป็นกลุ่ม  ที่ประกอบด้วยสมาชิกอีกคู่หนึ่งที่มาจากกลุ่มการอ่านอื่น  ตัวอย่างเช่น  ในทีมหนึ่งประกอบด้วยผู้เรียนสองคนที่มาจากกลุ่มการอ่านที่เก่ง  และผู้เรียนอีกสองคนที่มาจากกลุ่มการอ่านที่อ่อนกว่า  ส่วนผู้เรียนที่จัดว่ามีปัญหาทางการอ่าน  ก็ให้กระจายกันอยู่ในทีมต่าง ๆ  มีกิจกรรมต่าง ๆ  จำนวนหลายกิจกรรม  ที่จะต้องทำงานร่วมกันแบบเป็นคู่ ๆ  อย่างไรก็ตาม  อีกคู่หนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันสามารถช่วยเหลือกันได้  ผู้เรียนในทีมจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่เป็นอิสระจากผู้สอน  ผู้เรียนจะประเมินเพื่อนสมาชิกในกลุ่มซึ่งกันและกัน  คะแนนจากการประเมินนักเรียนแต่ละคน  รวมเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มใดได้คะแนนถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้  จะได้รับรางวัล                  
ที่มา  :  ธนพร  ยมรัตน์.  ผลการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคปริศนาความคิดที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อวิชาสังคมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.  นครสวรรค์  :  สถาบันราชภัฏนครสวรรค์,  2546.