การอ่านเป็นพฤติกรรมการรับสารที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟัง ปัจจุบันมีผู้รู้นักวิชาการและนักเขียนนำเสนอความรู้ ข้อมูล ข่าวสารและงานสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ ในหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มาก นอกจากนี้แล้วข่าวสารสำคัญ ๆ หลังจากนำเสนอด้วยการพูด หรืออ่านให้ฟังผ่านสื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์รักษาไว้เป็นหลักฐานแก่ผู้อ่านในชั้นหลัง ๆความสามารถในการอ่านจึงสำคัญและจำเป็นยิ่งต่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมปัจจุบัน
2. ความสำคัญของการอ่าน
ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีตัวหนังสือใช้ มนุษย์ได้ใช้วิธีเขียนบันทึกความทรงจำและเรื่องราวต่าง ๆ เป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังในถ้ำ เพื่อเป็นทางออกของอารมณ์ เพื่อเตือนความจำหรือเพื่อบอกเล่าให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย แสดงถึงความพยายามและความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเป็นสัญลักษณ์ที่คงทนต่อกาลเวลาจากภาพเขียนตามผนังถ้ำ ได้วิวัฒนาการมาเป็นภาษาเขียนและหนังสือ ปัจจุบันนี้หนังสือกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อมนุษย์จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยอันหนึ่งในการดำรงชีวิตคนที่ไม่รู้หนังสือแม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีความเจริญ ไม่สามารถประสบความสำเร็จใด ๆ ในสังคมได้หนังสือและการอ่านหนังสือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
3. จุดประสงค์ของการอ่าน
ในการอ่านบุคคลแต่ละคนจะมีจุดประสงค์ของตนเอง คนที่อ่านข้อความเดียวกันอาจมีจุดประสงค์หรือความคิดต่างกัน โดยทั่วไปจุดประสงค์ของการอ่านมี 3 ประการ คือ
1) การอ่านเพื่อความรู้ ได้แก่ การอ่านหนังสือประเภทตำรา สารคดี วารสาร หนังสือพิมพ์ และข้อความต่าง ๆ เพื่อให้ทราบเรื่องราวอันเป็นข้อความรู้ หรือเหตุการณ์บ้านเมือง การอ่านเพื่อความรอบรู้เป็นการอ่านที่จำเป็นที่สุดสำหรับครู เพราะความรู้ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะ แม้จะได้ศึกษามามากจากสถาบันการศึกษาระดับสูง ก็ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้และต้องค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทันต่อความก้าวหน้าของโลกข้อความรู้ต่าง ๆ อาจมิได้ปรากฏชัดเจนในตำรา แต่แทรกอยู่ในหนังสือประเภทต่าง ๆแม้ในหนังสือประเภทบันเทิงคดีก็จะให้เกร็ดความรู้ควบคู่กับความบันเทิงเสมอ
2) การอ่านเพื่อความคิดแนวความคิดทางปรัชญา วัฒนธรรม จริยธรรม และความคิดเห็นทั่วไป มักแทรกอยู่ในหนังสือแทบทุกประเภท มิใช่หนังสือประเภทปรัชญา หรือจริยธรรมโดยตรงเท่านั้น การศึกษาแนวคิดของผู้อื่น เป็นแนวทางความคิดของตนเองและอาจนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกนำความคิดที่ได้อ่านมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในบางเรื่องผู้อ่านอาจเสนอความคิดโดยยกตัวอย่างคนที่มีความคิดผิดพลาดเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้อ่านได้ความยั้งคิด เช่น เรื่องพระลอแสดงความรักอันฝืนทำนองคลองธรรมจึงต้องประสบเคราะห์กรรมในที่สุดผู้อ่านที่ขาดวิจารณญาณมีความคิดเป็นเรื่องจูงใจให้คนทำความผิดนับว่าขาดประโยชน์ทางความคิดที่ควรได้ไปอย่างน่าเสียดายการอ่านประเภทนี้จึงต้องอาศัยการศึกษาและการชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้มีประสบการณ์ในการอ่านมากกว่าครูจึงต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านเพื่อความคิดของตนเองและเพื่อชี้แนะหรือสนับสนุนนักเรียนให้พัฒนาการอ่านประเภทนี้
3) การอ่านเพื่อความบันเทิงเป็นการอ่านเพื่อฆ่าเวลา เช่น ระหว่างที่คอยบุคคลที่นัดหมาย คอยเวลารถไฟออก เป็นต้น หรืออ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีในเวลาว่าง บางคนที่มีนิสัยรักการอ่านหากรู้สึกเครียดจากการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ อาจอ่านหนังสือประเภทเบาสมองเพื่อการพักผ่อน หนังสือประเภทที่สนองจุดประสงค์ของการอ่านประเภทนี้มีจำนวนมาก เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย การ์ตูน วรรณคดีประเทืองอารมณ์เป็นต้นจุดประสงค์ในการอ่านทั้ง 3 ประการดังกล่าว อาจรวมอยู่ในการอ่านครั้งเดียวกันก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกจากกันอย่างชัดเจน
4) คุณค่าของการอ่าน ในการส่งเสริมการอ่าน ครูควรชี้ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการอ่าน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเลือกหนังสือด้วย คุณค่าดังกล่าวมามีดังนี้
• คุณค่าทางอารมณ์หนังสือที่ให้คุณค่าทางอารมณ์ ได้แก่ วรรณคดีที่มีความงามทั้งถ้อยคำ น้ำเสียง ลีลาในการประพันธ์ ตลอดจนความงามในเนื้อหา อาจเรียกได้ว่ามี “รส” วรรณคดี
ซึ่งตำราสันสกฤต กล่าวว่า มีรส 9 รส คือ
1 รสแห่งความรักหรือความยินดี
2 รสแห่งความรื่นเริง
3 รสแห่งความสงสาร
4 รสแห่งความเกรี้ยวกราด
5 รสแห่งความกล้าหาญ
6 รสแห่งความน่ากลัวหรือทุกขเวทนา
7 รสแห่งความเกลียดชัง
8 รสแห่งความประหลาดใจ
9 รสแห่งความสงบสันติในวรรณคดีไทยก็แบ่งเป็น 4 รส คือ
- เสาวจนี การชมความงาม
- นารีปราโมทย์ การแสดงความรัก
- พิโรธวาทัง การแสดงความโกธรแค้น
- สัลลาปังคพิไสย การคร่ำครวญ
หลายท่านคงเคยได้ศึกษามาแล้ว หนังสือที่มิใช่ตำราวิชาการโดยตรง มักแทรกอารมณ์ไว้ด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อให้น่าอ่านและสนองอารมณ์ของผู้อ่านในด้านต่าง ๆ
• คุณค่าทางสติปัญญาหนังสือดีย่อมให้คุณค่าทางด้านสติปัญญา อันได้แก่ ความรู้และความคิดเชิงสร้างสรรค์ มิใช่ความคิดในเชิงทำลายความรู้ในที่นี้นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้วยังรวมถึงความรู้ทางการเมือง สังคม ภาษา และสิ่งต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านเสมอ แม้จะหยิบหนังสือมาอ่านเพียง 2-3 นาทีผู้อ่านก็จะได้รับคุณค่าทางสติปัญญาไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งหนังสืออาจจะปรากฏในรูปของเศษกระดาษถุงกระดาษ แต่ก็จะ “ให้ ” บางสิ่งบางอย่างแก่ผู้อ่านบางครั้งอาจช่วยแก้ปัญหาที่คิดไม่ตกมาเป็นเวลานานทั้งนี้ย่อมสุดแต่วิจารณญาณและพื้นฐานของผู้อ่านด้วยบางคนอาจมองผ่านไปโดยไม่สนใจแต่บางคนอาจมองลึกลงไปเห็นคุณค่าของหนังสือนั้นเป็นอย่างยิ่งคุณค่าทางสติปัญญาจึงมิใช่ขึ้นอยู่กับหนังสือเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับผู้อ่านด้วย
• คุณค่าทางสังคม การอ่านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาแต่เป็นโบราณกาล หากมนุษย์ ไม่มีนิสัยในการอ่าน วัฒนธรรมคงสูญสิ้นไป ไม่สืบทอดมาจนบัดนี้ วัฒนธรรมทางภาษา การเมือง การประกอบอาชีพ การศึกษา กฎหมาย ฯลฯ เหล่านี้อาศัยหนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และพัฒนาให้คุณค่าแก่สังคมนานัปการ หนังสืออาจทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้หากมีคนอ่านเป็นจำนวนมาก หนังสือและผู้อ่าน จึงอาศัยกันและกันเป็นเครื่องสืบทอดวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้ว จะเห็นได้ว่า ในกลุ่มคนที่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีหนังสือไม่มีการอ่านวัฒนธรรมของสังคมนั้นมักล้าหลัง ปราศจากการพัฒนา การอ่านจึงให้คุณค่าทางสังคมในทุกด้าน
ความหมายของการอ่านเชิงวิเคราะห์
สมพร มันตะสูตรแพ่งพิพัฒน์ (2534 : 56) ได้ให้ความหมายว่า การอ่านวิเคราะห์ หมายถึง การอ่านอย่างถี่ถ้วน โดยการพิจารณาส่วนประกอบของบทอ่านอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องอาศัยการวินิจสารประกอบกันไปด้วย จึงจะสามารถรับสารที่ผู้เขียนส่งมายังผู้อ่านได้ตามประสงค์
ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2538 : 216) กล่าวว่า การอ่านเพื่อวิจารณ์จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ซึ่งจะเป็นผลทำให้การวิจารณ์ดูชัดเจนขึ้น การวิเคราะห์ หมายถึง การแยกแยะสวนประกอบต่าง ๆ ออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด
ราชบัณฑิตยสถาน (2539 : 216 : 1) การอ่านอย่างวิเคราะห์ต้องอ่านด้วยความพินิจพิจารณา ไตร่ตรอง กลั่นกรอง แยกแยะ หาเหตุผลส่วนดี ส่วนบกพร่องของหนังสือนั้น เพื่อให้เป็นแนวทางนำไปสู่ความคิดสรุปเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนั้นได้
สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์ (2539 : 71) ได้กล่าวว่า คำว่า วิเคราะห์ใช้กันมานานแล้ว หมายถึง แยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การอ่านวิเคราะห์จึงหมายถึง การอ่านเพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
จากความหมายการวิเคราะห์ของนักวิชาการข้างต้น พอสรุปได้ว่า การอ่านชิงวิเคราะห์ คือ การอ่านอย่างรอบคอบโดยใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งในการประเมินสิ่งทีอ่านเพื่อแยกแยะประเด็นต่าง ๆ ของสิ่งที่อ่านได้ย่างละเอียดถี่ถ้วน
ความสำคัญของการอ่านเชิงวิเคราะห์
ความสำคัญของการอ่านมีความจำเป็นต่อชีวิตของคนในปัจจุบัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านวัตถุ วิทยาการเทคโนโลยีต่าง ๆ การอ่านจะช่วยเสริมสร้างความรู้และความคิดช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อ่านให้ดีขึ้น ดังที่นักการศึกษาได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านไว้ดังนี้
ชวาล แพรรัตกุล (2520 : 259) กล่าวว่า การวิเคราะห์เป็นสมรรถภาพทางสมองที่สำคัญมากของมนุษย์ มีคุณค่าต่อชีวิตโดยตรง เป็นที่ปรารถนาของการศึกษาทุกระดับชั้นและกล่าวว่า บุคคลที่ไม่เคยถูกฝึกฝนความคิดชนิดนั้นจะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เท่าที่ตาเห็นและตามที่ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสเท่านั้น แล้วก็จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้นด้วย นั้นคือจะเห็นแต่สีสัน ทรวดทรง และพื้นผิวภายนอกของเรื่องเพียงประการเดียวเท่านั้นไมมาทั้งปัญญาและไร้ความสามารถที่จะมองเรื่องนั้นให้ทะลุทะลวงในเนื้อหาสาระ แก่นแท้ของจริงทีซ่อนอยู่เบื้องใต้นั้นได้เลย
จากความสำคัญดังกล่าวสรุปได้ว่า ความสามารถในการวิเคราะห์สิ่งที่อ่านเป็นสิ่งจำเป็นต่อบุคคลทุกระดับ
องค์ประกอบของการอ่านเชิงวิเคราะห์
องค์ประกอบของการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพ โดยผู้อ่านสามารถแยกแยะข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นจากการอ่านได้ ดังคำกล่าวของนักการศึกษาต่อไปนี้
1. ประเภทของวรรณกรรม
2. แนวเรื่อง
3. แนวคิดหลัก
4. ข้อมูลเสริม
5. โวหารการเขียน
ทั้ง 6 ประการข้างต้น คือ องค์ประกอบที่มีอยู่ในแต่ละสารที่อ่านในเชิงวิเคราะห์ย่อมสามารถแยกแยะสารที่อ่านได้ตามองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ต้องไม่ก้าวล่วงไปถึงการวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะการประเมินคุณค่าของสารว่าสื่ออรรถมากน้อยเพียงใดมีรสเหมาะสมในการสื่ออรรถต่อกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นเรืองของการวิจารณ์มิใช่การวิเคราะห์